วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

“ศิลปะสร้างความฉลาดหรือแค่ความเชื่อ”


ศิลปะสร้างความฉลาดหรือแค่ความเชื่อ”

ถึงคราเด็กไทย ต้องเรียนศิลปะ ?

ผู้ปกครองบางคนอาจคิดว่า ศิลปะนั้น ไม่ได้ให้ สาระประโยชน์กับสติปัญญาของลูก นอกจากความบันเทิงใจ คลายเครียดเท่านั้น แต่จากงานวิจัยและความเห็นของนักวิชาการ ต่างยืนยันผลของการกระตุ้นพัฒนาการลูกด้วยศิลปะว่า สามารถพัฒนาไอคิวของลูกรักได้จริงอย่างไม่ต้องสงสัยเลยล่ะค่ะ

ศิลปะพัฒนาสมองของลูกได้อย่างไร

ถ้าเด็กเรียนวิธีการการคิดเลข เช่น 2+2 คำตอบมันจะมีเพียงคำตอบเดียวคือ เท่ากับ 4 สมองจะคิดเป็นขั้นตอนเพียงหนเดียว จะติดพลิกแพลงเป็นเลขตัวอื่นไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นคำตอบที่ผิด แต่ถ้าให้ลูกวาดรูปดอกไม้ดอกหนึ่ง สมองจะต้องใช้กระบวนการคิดทบไปทบมาหลายครั้ง เช่น วาดรูปดอกไม้ ต้องคิดตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะวาดดอกไม้อะไร มีกลีบดอกเยอะไหม ต้องวาดทีละกลีบ กลีบดอกจะซ้อนหรือว่าแบนมีชั้นเดียว และต้องระบายสีอีก จะใช้สีอะไร ใส่ใบไม้ลักษณะแบบไหน กี่ใบ ฉะนั้นการทำงานผ่านศิลปะ ความคิดของเด็กจึงต้องทำงานเป็นขั้นจาก 1-2-3-4-5....ไปเรื่อยๆ ขณะที่การคิดเลขมันแค่ 2+2=4 คิดกี่ครั้งๆ ก็ได้ 4 เท่ากับเป็นการคิดครั้งเดียวจบ ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็ก ม.มหิดล กล่าว

ฉะนั้นกระบวนการทำงานศิลปะ เช่น การวาดภาพมีผลต่อการพัฒนาสมองและจินตนาการ ฝึกสมองให้คิดทบหลายครั้ง ทำให้สมองคิดตลอดเวลาและแต่ละครั้งก็คือ การแก้ปัญหา เปรียบเทียบ คิดออก เลือกทำ สมองจึงทำงานอยู่เรื่อยๆ ฝึกบ่อยๆ หลายๆ ครั้ง สมองของลูกก็เหมือนได้ลับความคม มีดทื่อๆ ถ้าได้ลับหลายๆ ครั้งก็จะคมขึ้นค่ะ

อาจารย์สังคม ทองมี เคยให้สัมภาษณ์ว่า ศิลปะมีผลต่อการพัฒนาเด็กทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคม ศิลปะพัฒนาสมองของเด็ก ด้วยการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง กับสังคม และโลก เมื่อมองย้อนไปในยุคกรีก โรมัน จะเห็นการพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรมในเชิงประวัติศาสตร์ ชนใดมีความคิดสร้างสรรค์สูง จะสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับโลก เหตุนี้ชาวต่างชาติจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน แต่การจะพัฒนาคนได้ เชื่อว่าต้องพัฒนาความคิดของคนก่อน เมื่อคนมีความคิดที่ดีและสร้างสรรค์ จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเขาจึงมองศิลปะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เล็ก การจัดระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน จะใช้ศิลปะไปสัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ เกิดการเรียนแบบบูรณการ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ จะให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์ โดยให้ศึกษาโบราณสถานไปด้วย วาดรูปไปด้วย ทั้งที่วิชานั้นไม่ใช่วิชาศิลปะ ไม่ว่าเด็กจะเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิชาใดๆ จะนำศิลปะไปช่วยทำให้เด็กเกิดความเข้าใจได้ลึกซึ้ง และจำได้ดีกว่าที่จะแยกเรียนเป็นวิชา มานั่งท่องจำเป็นวิชาๆ แบบบ้านเรา

รศ.พญ.ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญสมองเด็ก กล่าวสอดคล้องในเรื่องนี้ว่า นักการศึกษาบางคนเชื่อว่า การศึกษาเรียนรู้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่มีเรื่องของศิลปะมาช่วย โรงเรียนที่มีการสอนบางระบบ เช่น โรงเรียนที่ใช้แนวการสอนแบบวอลดอล์ฟ ก็ใช้ศิลปะเป็นวิธีการเรียนการสอนเรื่องต่างๆ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ศิลปะสามารถสร้างความฉลาดให้กับลูกได้ มิใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ สร้างความสนุกสนานอย่างไรสาระ แต่ให้คุณค่าด้านจิตใจและสติปัญญาได้นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น